ข้อบังคับชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2563
หมวดที่ 1
บททั่วไป
ข้อ 1. ชื่อชมรม ชื่อว่า “ชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย”
ข้อ 2. สัญลักษณ์ของชมรม
ข้อ 3. วัตถุประสงค์ของ ชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย
3.1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่กีฬาหมากล้อมให้เป็นที่รู้จัก
3.2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เยาวชนและประชาชน ให้มีการพัฒนาทักษะความสามารถ ให้ดียิ่งขึ้นและส่งเข้าร่วมการแข่งขันที่สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีขึ้น
3.3. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาบุคลากร และครูผู้สอนด้านกีฬาหมากล้อมให้มีมาตรฐานในระดับประเทศ
หมวดที่ 2
สมาชิก สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ 4. สมาชิกของชมรมมี 3 ประเภทคือ
4.1. สมาชิก ได้แก่ บุคคลที่สนใจในกีฬาและต้องการสนับสนุนกิจกรรมของชมรม
4.2. สมาชิกบริหาร ได้แก่ บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และต้องการสนับสนุนกิจกรรมของชมรม
4.3. สมาชิกถาวร ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่ชมรม
ข้อ 5. สมาชิกของชมรมจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
5.1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
5.2. เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
5.3. เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
ข้อ 6. สมาชิกบริหารของชมรมจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
6.1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
6.2. เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
6.3. เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.4. เป็นผู้ที่สนใจกีฬาหมากล้อมของชมรมฯ พร้อมที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม และการประชุมของชมรมไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต่อปี หรือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการสอนกีฬาหมากล้อม
ข้อ 7. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกบริหารของชมรม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกบริหารของชมรม ยื่นใบสมัครตามแบบของชมรมต่อประธานชมรมเพื่อพิจารณาการรับสมาชิกในที่ประชุมของชมรมต่อไป
ข้อ 8. สมาชิกภาพของสมาชิก สมาชิกบริหาร สมาชิกถาวร ให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
8.1. ตาย
8.2. ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ
8.3. ขาดคุณสมบัติสมาชิก
ข้อ 9. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกบริหาร
9.1. มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของชมรมต่อคณะกรรมการ
9.2. มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
9.3. มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของชมรม
9.4. สมาชิกบริหารที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือ แต่งตั้งเป็นกรรมการชมรมที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียงสำหรับลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการ
9.5. มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ หรือเลขาธิการของสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของชมรม
9.6. มีสิทธิเข้าลงชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกบริหารทั้งหมด สามารถทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการ หรือเลขาธิการของสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
9.7. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของชมรมโดยเคร่งครัด
9.8. มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกของชมรม
9.9. มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของชมรม
9.10. มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
9.11. มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของชมรมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
9.12. สมาชิกบริหารที่ริเริ่มโครงการ หรือ กิจกรรมใดจนเป็นผลสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการหรือกิจกรรมนั้นตลอดโดยไม่มีการกำหนดวาระ
ข้อ 10. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกถาวร
10.1. มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของชมรมต่อคณะกรรมการ
10.2. มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
10.3. มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของชมรม
10.4. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของชมรมโดยเคร่งครัด
10.5. มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกถาวร
10.6. มีหน้าที่พิจารณารับรองการสมัครของสมาชิกบริหาร
10.7. มีหน้าที่รับรองสมาชิกบริหารชมรม ในช่วงแรกเริ่มจนกว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมเมื่อจัดคณะกรรมการชมรมเสร็จแล้ว ในวาระต่อไปให้นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมเป็นผู้แต่งตั้ง
10.8. มีหน้าที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของชมรมฯ โดยต้องมีมติเห็นชอบอย่างน้อย 3 คน
หมวดที่ 3
คณะกรรมการบริหารชมรม
ข้อ 11. ให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารการจัดการกิจการของชมรมมีจำนวนอย่างน้อย 9 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานจากที่ประชุมใหญ่ 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้ประธานชมรมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของชมรม ตามที่ได้กำหนดไว้ซึ่งตำแหน่งของกรรมการชมรม มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
11.1. ประธานชมรม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของชมรม เป็นผู้แทนชมรมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของชมรม
11.2. รองประธาน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานชมรมในการบริหารกิจการชมรมปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประธานชมรมได้รับมอบหมาย และทำหน้าที่แทนประธานชมรมเมื่อประธานชมรมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนประธานชมรมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
11.3. เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของชมรมทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของชมรมในการปฏิบัติกิจการของชมรม และปฏิบัติตามคำสั่งของประธานชมรมตลอดจนทำหน้าที่ เป็นเลขานุการ ในการประชุมต่าง ๆ ของชมรม
11.4. เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของชมรมเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของชมรม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของชมรมไว้เพื่อตรวจสอบ
11.5. นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของชมรม ประสานงานกับเหรัญญิก
11.6. ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่เผยแพร่กิจการ และชื่อเสียงเกียรติคุณของชมรมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 11.7. กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมี จำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
11.8. คณะกรรมการ เป็นผู้ที่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนสำหรับมติต่าง ๆ ของที่ประชุมที่ต้องการลงมติอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้ริเริ่มการจัดตั้งชมรมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยประธานชมรม และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของชมรม
ข้อ 12. คณะกรรมการของชมรมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปีแต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยสามารถกลับมาเป็นคณะกรรมการอีกครั้งได้เมื่อเว้นไป 1 วาระ และเมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียน จากทางสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการ ชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จด ทะเบียนจากทางสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย
ข้อ 13. ตำแหน่งคณะกรรมการชมรม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกบริหารคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 14. คณะกรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
14.1. ตาย
14.2. ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ
14.3. ขาดสมาชิกภาพ
14.4. ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
14.5. กระทำการอันพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทุจริตหรือคอรัปชั่นซึ่งส่งผลให้ชมรมเกิดความเสียหาย
ข้อ 15. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
15.1. มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อ ข้อบังคับฉบับนี้
15.2. มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่บริหารประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
15.3. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
15.4. มีอำนาจบริหารกิจการของชมรม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอ่าจาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
15.5. มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของชมรม
15.6. มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกบริหารเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกบริหารทั้งหมดร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร
15.7. มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
15.8. จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของชมรม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
15.9. มีอำนาจในการรับรองสมาชิกบริหารชมรม โดยสมาชิกบริหารชมรมต้องมีคณะกรรมการลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน
15.10. มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 16. คณะกรรมการชมรมจะต้องประชุมกันอย่างน้อย 1 ครั้งภายใน 2 เดือน ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของชมรม
ข้อ 17. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือ คะแนนเสียงมากของสมาชิกบริหารเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 18. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานชมรม และรองประธานชมรมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่
ข้อ 19. การประชุมของชมรม 2 ชนิด คือ
19.1. ประชุมใหญ่สามัญ
19.2. ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 20. คณะกรรมการจะต้องจัดให้การประชุมใหญ่บริหารประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือน มกราคม ของทุก ๆ ปีเพื่อสรุปผลการทำงานและวางแผนกิจกรรมของปีถัดไป
ข้อ 21. การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกบริหารทั้งหมด ให้จัดประชุม โดยจัดทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของชมรมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญบริหารก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่า ประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
- เมื่อคณะกรรมการของชมรมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิบริหารตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการของชมรมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับค่าขอ
- ถ้าคณะกรรมการของชมรมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตาม วรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อ 22. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิก ได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ เว็บไซด์ของชมรมกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดประชุมใหญ่
ข้อ 23. การประชุมใหญ่บริหารประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
23.1. แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
23.2. แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
23.3. เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
23.4. เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อ 24. ในการประชุมใหญ่บริหารประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกบริหารเข้าร่วมประชุมไม่ น้อยกว่า 20 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกบริหารเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของชมรมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกบริหารเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม
ข้อ 25. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุม ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 26. ในการประชุมใหญ่ของชมรม ถ้าประธานชมรม และรองประธานชมรมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 5
การเงิน
ข้อ 27. รายได้ของชมรมได้จาก
27.1. ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเข้าชมรม
27.2. การจัดกิจกรรมของชมรม
27.3. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนับสนุนการเงิน
ข้อ 28. เงินรายได้ของชมรมต้องน่าไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินในนามชมรมและเหรัญญิกเป็นผู้เก็บรักษาบัญชี
ข้อ 29. เหรัญญิกเป็นผู้ควบคุมการเบิกจ่ายตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในการจ่ายเงินของชมรม โดยให้มีหลักฐานการรับ - จ่ายเงิน เพื่อที่จะตรวจสอบได้
ข้อ 30. การถอนเงินจากธนาคารเป็นอำนาจของประธาน หรือรองประธานที่ประธานมอบอำนาจ ลงชื่อร่วมกัน 2 ใน 3 สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ข้อ 31. ให้เหรัญญิก มีหน้าที่เก็บรักษาสมุดบัญชีของชมรม เพื่อสะดวกในการเบิกจ่ายเงิน ในวงเงินที่ไม่สูงจนเกินไปและผ่านการเห็นชอบอนุมัติจากประธานชมรมแล้ว รวมทั้งต้องจัดทำบัญชีไว้ให้เรียบร้อย
ข้อ 32. อำนาจในการสั่งจ่ายเงิน
32.1. ประธานชมรมสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 100,000.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
32.2. จำนวนเงินที่เกินกว่าอำนาจประธานชมรมจะสั่งจ่ายได้ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารชมรม ในการพิจารณาจ่ายเงินโดยไม่จำกัดวงเงิน
ประธานชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย